สาครกับสาคร

DSC_0143

เป็นเรื่องที่น่าแปลกดีเหมือนกัน ที่คนชื่อเดียวกันมาแต่งงานกัน โดยเฉพาะเมื่อคนทั้งสองได้จดทะเบียนสมรส เพราะนั่นได้ทำให้ทั้งคู่มีชื่อและนามสกุลเดียวกัน เรามีโอกาสได้พบ สาคร ศรีลาจันทร์ และ สาคร ศรีลาจันทร์ คู่สามีภรรยาแห่งชุมชนหนองฉิม หมู่ที่ 5 ตำบลโพรงมะเดื่อ

เราดั้นด้นมาถึงบ้านของพวกเขา ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ร่มไม้ เจ้าบ้านทั้งสองเชื้อเชิญให้เรานั่งที่ชานด้านหน้า พร้อมกับหาน้ำท่ามาต้อนรับเราด้วยไมตรีจิต

“เศรษฐกิจพอเพียงของที่นี่เป็นอย่างไร” เราเริ่มโยนคำถามทันที

สาครผู้เป็นสามีจึงเล่าให้เราฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ชาวบ้านรวมตัวกันทำโครงการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชุมชนหนองฉิม ทำได้พักหนึ่ง มีโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เข้ามา และเห็นว่ากลุ่มทำปุ๋ยนี้เหมาะที่จะส่งเสริมให้เป็นกลุ่มแม่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัว จึงได้โอนย้ายสมาชิกทั้ง 30 ครัวเรือน มาอยู่ใต้ชายคา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552

“โครงการปุ๋ยนี้มีสมาชิกเยอะ แต่ทำจริงค่อนข้างน้อย แต่ว่าโครงการสายใยรักมีกิจกรรมให้ทำมากกว่า โดยหลักๆ แล้ว เขาเข้ามาฝึกอาชีพให้ ไม่ว่าจะเป็นปลูกผัก ทำน้ำยาซักผ้า ล้างจาน ทำแหนม ทำกระถางกล้วยไม้ ทำไข่เค็ม หาวิทยากรมาสอน เราลงมือทำ หลายอย่างทำได้นาน อย่างไข่เค็มนั้น ทำได้อยู่พักหนึ่ง ก็หยุด เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว” สาครอธิบาย

ชาวบ้านรวมตัวกันระยะหนึ่ง กระทั่งโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ ยุติลงเมื่อปลายปี 2557 ส่งผลให้กิจกรรมบางอย่างชะงักลงเช่นกัน แต่ทางเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อเห็นว่า การรวมตัวนี้มีประโยชน์ และสร้างรายได้แก่ชาวบ้าน จึงพยายามส่งเสริมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การทำน้ำยาอเนกประสงค์ ของตกแต่ง ของประดับ และไข่เค็มบ้างในบางโอกาส

“ตอนนี้ผมพยายามสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ขึ้นมา เห็นพวกกะลามะพร้าวถูกทิ้งไว้ คิดไปคิดมาจินตนาการไปเรื่อย ก็ออกมาเป็นของแต่งบ้าน ทั้งโคมไฟ แจกัน กับอีกหลายอย่าง บางทีเทศบาลพาไปดูงาน ก็ไปได้ไอเดียมาทำต่อบ้าง”

ทุกวันนี้กลุ่มของสาครรวมตัวกันในบางโอกาส โดยเฉพาะในยามที่มียอดสั่งผลิตภัณฑ์เข้ามา แต่ในยามที่ว่างเว้น สาครจะหยิบจับนั่นนี่ทำเรื่อย โดยเฉพาะพวกงานช่างงานฝีมือ ซึ่งเจ้าตัวพอมีทักษะความชำนาญ

เราเดินตามสาครไปยังด้านหลังของตัวบ้าน เครื่องไม้เครื่องมือช่างยังคงวางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นเก็บของแบบนี้ ชิ้นงานของสาครก็เนี๊ยบไม่แพ้กัน